ประวัติจังหวัดเชียงราย

ประวัติจังหวัดเชียงราย

การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 เจียงฮายเกมส์

เชียงราย เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีภูมิศาสตร์อยู่ทางเหนือสุดของประเทศ ที่ตั้งของเมืองมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งอาณาจักรล้านนา เช่น เมืองเงินยาง เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงรายเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของชาวไทยวน ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ อำเภอ มีแม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญ ทำเลที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง ๓ ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศพม่า และประเทศลาว หรือรู้จักกันในนามของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งอดีตเป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่สำคัญของโลก ปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายได้รับความสนใจในฐานะประตูสู่พม่า ลาว และจีนตอนใต้ ผ่านทางหลวงเอเชียสาย ๒ และทางหลวงเอเชียสาย ๓

เมืองเชียงรายมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งเป็นนครหลวงก่อนการกำเนิดอาณาจักรล้านนา มี "คำเมือง" เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในรูปแบบล้านนา ไทใหญ่ ไทเขิน และไทลื้อจากสิบสองปันนาผสมผสานกัน

ดังจะสรุป ประวัติศาสตร์ความเป็นมาโดยแบ่งเป็นสมัยต่าง ๆ ได้ ๔ สมัย คือ

สมัยชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์

บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำกก เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชนชาติไทยและอารยธรรมไทย ตั้งแต่ก่อนพ.ศ. ๑๘๐๐ ร่องรอยที่เป็นรูปธรรมของสังคมและอารยธรรมไทยลุ่มน้ำกก ได้แก่ ซากเมืองโบราณ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดบนสองฝั่งแม่น้ำกก เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีซากเมืองโบราณถึง ๒๗ เมือง ตั้งแต่อำเภอฝางซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก จนถึงเมืองเชียงแสน นับเป็นพยานที่ดี ว่าได้มีชนชาติไทยชุมนุมกันตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณแม่น้ำกกอย่างหนาแน่น และได้ขยายตัวมีการสร้างบ้านแปงเมืองกันไม่ขาดสาย

ศูนย์กลางทางการเมือง ของไทยแห่งลุ่มน้ำกกในยุคแรก ตั้งอยู่ที่ลำน้ำแม่สายซึ่งอยู่เหนือแม่น้ำกกขึ้นไปเล็กน้อย ตำนานสิงหนวัติจดบันทึกไว้ว่า ราชวงศ์กษัตริย์ไทเมือง ชื่อสิงหนวัติกุมาร อพยพคนไทย จากนครไทยเทศในยูนนาน ลงมาตั้งอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ณ บริเวณละว้านที (แม่น้ำสาย) และแม่น้ำโขง ตั้งแต่ต้นพุทธกาลก่อนได้ชื่อว่าโยนก ตำนานสิงหนวัติได้กล่าวว่า บริเวณนี้เป็นดินแดนสุวรรณโคมคำแต่รกร้างไปแล้ว

เมื่อสิงหนวัติกุมารนำไพร่บ้านพลเมืองมาจากนครไทยเทศจึงมาสร้างเมืองขึ้นใหม่ชื่อว่า สิงหนวัตินคร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โยนกนครไชยบุรี ราชธานีศรีช้างแสน (ช้างแสนแปลว่าช้างร้อง) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงแสน และเรียกพลเมืองของโยนกนครว่า ชาวยวน ตำนานเงินยางเชียงแสน ได้กล่าวถึง ปู่เจ้าลาวจก เป็นผู้ตั้งอาณาจักรเงินยาง หรือ หิรัญนคร เมื่อ พ.ศ ๑๑๘๑ เป็นยุคที่สองต่อจาก โยนกนาคพันธุ์ ซึ่งล่มสลายไปแล้ว โดยตั้งศูนย์กลางอยู่ ณ บริเวณเดียวกับ โยนกนาคพันธุ์เดิม แต่ไพร่บ้านพลเมืองส่วนใหญ่อยู่กันหนาแน่นที่ปากแม่น้ำกกสบแม่น้ำโขง อาศัยน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ทำนา

การปกครองบ้านเมืองก็ใช้พื้นที่ทำนา เป็นเกณฑ์ การแบ่ง เขตเช่นแบ่งเป็นพันนา หมื่นนา แสนนาและล้านนาเป็นต้นมีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญและมีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เรียกว่าเวียงเกิดขึ้นตามบริเวณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ อีกมากมาย

สมัยสร้างบ้านแปงเมืองของราชวงศ์มังราย

ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บริเวณลุ่มน้ำกก มีการ "สร้างบ้านแปลงเมือง” โดยพญามังราย (พ.ศ. ๑๗๘๑-๑๘๖๐) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย บุตรของพญาลาวเม็ง (ผู้ครองหิรัญนครเงินยาง) และพระนางเทพคำข่าย (เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็ง ที่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนในปี พ.ศ. ๑๘๐๒ และได้ทรงย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยาง (ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเชียงแสน) มาสร้างราชธานีแห่งใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕ และได้ขนานนามราชธานีแห่งนี้ว่า "เชียงราย” ซึ่งมีความหมายว่า "เมืองของพญามังราย”

จากนั้นได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติเชื้อสาย ลัวะ จักราช เช่นเมืองเชียงไร เมืองปง เมืองเวียงคำ เชียงเงิน เชียงช้าง เชียงของ ฯลฯ เข้ามาไว้ในอำนาจ รวมทั้งได้สร้าง เวียงฝางขึ้นมาในปี ๑๘๑๒ ต่อมาพระองค์ได้ขยายอำนาจสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง สามารถยึดเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ได้ในปี ๒๘๑๗ และได้เมืองอังวะพุกามในปี ๑๘๓๒ โดยได้นำเอาช่างจากพุกามมาไว้ที่เชียงแสนด้วยหลังจากนั้น พระองค์จึงย้ายราชธานีมายังบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง โดยสร้าง เมือง "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ และครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ตลอด

โดยให้ขุนคราม ราชโอรสไปครองเมืองเชียงรายแทน เชียงรายจึงกลาย สภาพเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ ภายหลังการย้ายราชธานีของพญามังรายเชียงรายก็ถูกเปลี่ยนเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชและในระยะต่อมาบทบาทเมืองเชียงราย ก็ถูกริดรอนลง เมื่อเชียงใหม่เกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันเอง อาณาจักรล้านนาก็เริ่มเสื่อมและเสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ เมือง เชียงรายจึงตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพม่านานถึง ๒๐๐ ปี โดยในระหว่างที่พม่าเข้ามามีอำนาจนั้นพม่าได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญในการปกครองของหัวเมืองเหนือ

สมัยเป็นเมืองบริวารต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี อาณาจักรไทยได้ทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง จนบรรดาผู้นำของคนไทยตอนเหนือ เช่น พญาจ่าบ้าน พญากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่เรียกว่า "ฟื้นม่าน” เพื่อช่วยขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทย แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ต่อมาพญากาวิละ เป็นผู้มีบทบาท มากในการเกลี้ยกล่อมให้บรรดาเมืองต่างๆ ในล้านนาร่วมมือกันต่อสู้พม่า

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นความสำคัญของอาณาจักรล้านนาไทย จึงทรง สนับสนุนให้ทัพมาช่วย และโปรดเกล้าสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเป็นประเทศราช และแต่งตั้งให้พญากาวิละเป็นพระเจ้ากาวิละ ครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละ ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนและกวาดต้อนผู้คนบริเวณเมืองต่างๆ ออกไปทั้งหมด ทำให้เมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้าง ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองเชียงรายได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นอีกครั้ง มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหลวงธรรมลังกา เป็นเจ้าเมืององค์แรก และนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา การปกครองเมืองเชียงราย ในฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า "เจ้าขัน ๕ ใบ” เป็นคณะปกครองเมืองเชียงราย ประกอบด้วย เจ้าหลวง พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ เป็นผู้ปกครอง

นอกจากนี้ยังมี "เค้าสนามหลวง” ประกอบด้วยเจ้านายขุนนางชั้นสูง ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง และ เมืองเชียงราย มีเจ้าหลวง และเจ้านายบุตรหลานเชื้อสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนปกครอง เป็นระยะเวลานานถึง ๖๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๔๖) จนมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ ๕

สมัยการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล

สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมือง โดยค่อย ๆ ริดรอนอำนาจของเจ้าผู้ครองนคร พยายามไม่ให้ เกิดความขัดแย้งในการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนถึง ๒๔๔๒ ได้ประกาศจัดตั้งมณฑลพายัพ และเป็นการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทย ทำให้ ล้านนาไทยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๓ รัฐบาลได้ส่งข้าหลวงคือ พ.ต. หลวงภูวนาทนฤบาล มาดูแลเมืองเชียงราย โดยให้รวมเมือง เชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา แม่ใจ ดอกคำใต้ แม่สรวย เชียงคำ เชียงของ ตั้งเป็นหัวเมืองจัตวา เรียกว่า "เมืองเชียงราย” อยู่ในมณฑลพายัพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการยกเลิกการปกครอง แบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองเชียงรายจึงมีฐานะเป็นจังหวัด โดยเมืองฝางถูกแยกเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ อำเภอพะเยาพร้อมกับอีก ๖ อำเภอบริวาร จึงถูกยกฐานะเป็นจังหวัดพะเยา ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘

อ้างอิง